เมื่อวันที่ 1-7 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา รองศาสตราจารย์ ดร.ประยูร วงศ์จันทรา ประธานมูลนิธิสิ่งแวดล้อมศึกษา และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรณศักดิ์พิจิตร บุญเสริม กรรมการมูลนิธิสิ่งแวดล้อมศึกษา เดินทางศึกษาดูงาน การจัดการขยะ เต็มรูปแบบอย่างยั่งยืนของมหานครโตเกียว โดยมี Prof.Dr.Fumiya Onaka จากมหาวิทยาลัย Japan Women’s University ที่ให้ความอนุเคราะห์ การศึกษาดูงานครั้งนี้
มหานครโตเกียว นับเป็นมหานครขนาใหญ่ มีการแบ่งการปกครองออกเป็น 2 ระดับ คือ จังหวัด และเทศบาล โดยเมืองโตเกียวได้แบ่งการปกครองออกเป็น 23 เขตเทศบาล มีประชากรอาศัยอยู่มากกว่า 13.5 ล้านคน คิดเป็น 11 เปอร์เซ็นต์ของพลเมืองทั้งประเทศ โดยเมืองโตเกียว เป็น 1 ใน 47 จังหวัดของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีหน้าที่ในการในให้บริการด้านการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในท้องที่ที่รับผิดชอบ ซึ่งความสำเร็จในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยเมืองที่เป็นส่วนสำคัญคือ การออกกฎหมายเทศบัญญัติเพื่อควบคุมการผลิตและลดผลกระทบจากการผลิตขยะของประชากรในเมืองโตเกียว การส่งเสริมสังคมรีไซเคิลขยะ ลดการใช้ทรัพยากร และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีการพัฒนาข้อกฎหมาย ได้แก่ กฎหมายด้านการรักษาความสะอาดและการจัดการขยะเพื่อให้มีการจัดการขยะที่เหมาะสม กำหนดระเบียบข้อบังคับในการจัดตั้งโรงงานกำจัดขยะและธุรกิจด้านการกำจัดขยะ กำหนดมาตรฐานการจัดการขยะ มาตรการควบคุมการกำจัดขยะที่ไม่เหมาะสม และการพัฒนาการจัดการขยะโดยผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างมีความรับผิดชอบ ความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ด้านการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของโตเกียว มาจากการการต่อสู้กับปัญหาขยะล้นเมือง โดยเรียกว่า “สงครามขยะแห่งโตเกียว” ได้เกิดขึ้นเมื่อโตเกียวได้สร้างที่ทิ้งและเก็บขยะไว้ในเขต Koto และใช้งานมากว่า 300 ปี กระทั่งในปี ค.ศ. 1957 ได้มีโครงการสร้างเกาะ Yume no Shima (เกาะแห่งความฝัน) เพื่อใช้สำหรับฝังกลบขยะไว้ในบริเวณชายฝั่งในเขต Koto โดยให้สัญญากับประชาชนว่าจะระมัดระวังไม่ให้เกิดปัญหามลพิษ แต่ปรากฏว่า ไม่สามารถรักษาสัญญาไว้ได้ และขยะจำนวนมหาศาลก็ทำให้เกิดปัญหามลพิษสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนในเขต Koto จนในปี พ.ศ.2508 เมื่อจังหวัดโตเกียววางแผนการสร้าง New Yume no Shima เพื่อเป็นสถานที่ฝังกลบขยะแห่งใหม่ในเขต Koto ประชาชนจึงได้รวมตัวกันต่อต้านการสร้างสถานที่ฝังกลบขยะ การต่อต้านได้ลุกลามบานปลาย จนประชาชนในเขต Koto ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากการอยู่ในเส้นทางขนส่งขยะไปยัง New Yume no Shima ได้ลุกขึ้นมาบอยคอตไม่ให้รถขนขยะเข้ามาในเขต Koto จนกว่าชาวเมืองโตเกียวที่เหลือจะรับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับพวกเขา ซึ่งทำให้ Ryokichi Minobe ผู้ว่าราชการจังหวัดโตเกียวในขณะนั้น ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาและประกาศ “สงครามกับขยะ” เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่งไม่ใช้เรื่องง่ายมากนักในการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยของเมืองที่กำลังเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ เมื่อภาครัฐเองก็จำเป็นต้องต่อสู้กับทัศนคติของประชาชนต่อเทคโนโลยีการกำฟจัดที่จะนำมาใช้ โดยใช้ระยะเวลาในการปรับเปลี่ยนทัศนคติของประชาชนกว่า 30 ปี